นโยบายการบริหารคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ประจำปีงบประมาณ 2567-2570

            คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ทำหน้าที่จัดการศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตทันตแพทย์ทั้งในระดับทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ประกาศนียบัตรบัณฑิต วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต และผู้ช่วยทันตแพทย์ในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และการนำไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม ให้บริการวิชาการแก่สังคมและให้บริการสุขภาพช่องปากแก่ประชาชน นอกจากนี้คณะยังให้บริการสุขภาพช่องปากแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ภายใต้หน่วยทันตกรรมพระราชทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร แก่ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างมาอย่างต่อเนื่อง
            นโยบายการบริหารคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรฉบับนี้ จัดทำขึ้นโดยมีความสอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) นโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563-2570 และวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายของมหาวิทยาลัยนเรศวร ในการสร้างคน สร้างองค์ความรู้ สร้างวิจัยและนวัตกรรม และบริการวิชาการแก่สังคม เพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินงานของคณะบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงได้มีการจัดทำแผนกลยุทธ์ สำหรับการขับเคลื่อนคณะทันตแพทยศาสตร์ในช่วงปีงบประมาณ 2567-2570 ขึ้น ซึ่งจักเป็นกรอบในการปฏิบัติงานและการทำความเข้าใจแก่บุคลากรในคณะได้อย่างชัดเจน

การวิเคราะห์บริบทปัจจุบัน

1. การวิเคราะห์บริบทปัจจุบัน

             ในปัจจุบันมีบริบทหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป มีการเปิดคณะทันตแพทยศาสตร์ที่มีจำนวนมากขึ้นถึง 17 สถาบัน ทำให้มีจำนวนบัณฑิตทันตแพทย์ที่จบใหม่ประมาณ 1,000 คน/ปี ในขณะที่มีมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีอัตราบรรจุนิสิตทันตแพทย์คู่สัญญาไม่ครบตามจำนวนผลิต (รายงานผลการดำเนินงานองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2564-2565) ทำให้มีทันตแพทย์จบใหม่เข้าสู่ภาคเอกชนเพิ่มขึ้น จากการคำนวณอัตราการผลิตคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2576 ประเทศไทยจะมีทันตแพทย์ถึง 33,000 คน คิดเป็นสัดส่วนทันตแพทย์ต่อประชากร 1:2,500 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยไม่ขาดแคลนทันตแพทย์อีกต่อไป (อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.thaidental.or.th/main/download/upload/document-20160405125624.pdf) นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีอัตราการเจริญเติบโตของประชากรชะลอตัว มีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น (อ้างอิงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางประชากรในประเทศไทย http://social.nesdc.go.th/social/Portals/0/Documents/1000_UNFPA_rev_Policy %20Brief%20Thai_200411_69.pdf) การเปลี่ยนแปลงของสังคมที่พัฒนาเข้าสู่ยุค Digital Disruption ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของมนุษย์ให้เปลี่ยนแปลงไป การเกิดโรคอุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำ และสถานการณ์ที่เรียกว่า VUCA world โลกยุคผันผวน ที่มีความไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลทำให้องค์กรต้องปรับตัว ปรับกลยุทธ์เพื่อพร้อมรับมือกับความผันผวนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นเพื่อให้การบริหารองค์กรมีความสอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน จึงมีการกำหนดนโยบาย การยกระดับและการสร้างสรรค์แบบร่วมสมัยในยุคดิจิทัล (Contemporary Enhancements and Creations in the Digital Age) เพื่อใช้ในการพัฒนาคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร สู่ความเป็นเลิศและยั่งยืนต่อไป

            ในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุตามเป้าประสงค์ขององค์กร จึงมีการจัดทำการวิเคราะห์ในประเด็น จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOT analysis) และการวิเคราะห์บริบทเชิงกลยุทธ์ดังต่อไปนี้

1.1 การวิเคราะห์ SWOT analysis

จุดแข็ง (Strengths)
            S1 คณะมีบุคลากรสายวิชาการที่จบการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตถึงร้อยละ 55 และมีความสามารถด้านคลินิกเฉพาะทางครบทุกสาขา
            S2 บุคลากรสายสนับสนุนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
            S3 โรงพยาบาลทันตกรรมมีโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือที่ทันสมัย
            S4 มีการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง ในการดำเนินการตามพันธกิจของคณะมาอย่างต่อเนื่อง

จุดอ่อน (Weaknesses)
            W1 นิสิตระดับทันตแพทยศาสตรบัณฑิตจบการศึกษาตามหลักสูตรน้อย
            W2 การจัดหลักสูตรบัณฑิตศึกษายังไม่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน
            W3 การพัฒนาการจัดการเรียนการสอน การวัดผล และการประเมินผลของคณาจารย์ไม่ต่อเนื่อง
            W4 ได้รับทุนวิจัยภายนอกน้อย
            W5 ขาดสภาพคล่องทางการเงิน
            W6 ยังขาดฐานข้อมูลสำคัญด้านวิจัย การเงิน และทรัพยากร

โอกาส (Opportunities)
            O1 นโยบายและยุทธศาสตร์ประเทศและการทรวงการอุดมศึกษา พ.ศ. 2563-2570 เน้นการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี
            O2 การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สร้างโอกาสในการดำเนินงานด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการสุขภาพช่องปาก
            O3 การบรรจุทันตแพทย์คู่สัญญาของกระทรวงสาธารณสุขน้อยกว่าจำนวนผลิต ทำให้ทันตแพทย์เข้าสู่ระบบเอกชนมากขึ้น จึงเพิ่มความต้องการในการพัฒนาทักษะวิชาชีพในขั้นสูงกว่าแบบระยะสั้นเพิ่มขึ้น
            O4 การจัดการอบรมระยะสั้นโดยภาคเอกชนเก็บค่าลงทะเบียนสูง

อุปสรรค (Threats)
            T1 นโยบายที่เกี่ยวข้องกับวิธีการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล ทำให้การสนับสนุนงบประมาณแผ่นดินลดลง ทำให้ต้องใช้เงินจากงบประมาณรายได้ของคณะเพิ่มขึ้น
            T2 กระทรวงสาธารณสุขบรรจุทันตแพทย์คู่สัญญาลดลง อาจกระทบต่อจำนวนผู้เรียนที่สนใจศึกษาในสาขาทันตแพทยศาสตร์
            T3 คณะทันตแพทยศาสตร์มีจำนวนมาก มีการเปิดหลักสูตรบัณฑิตศึกษา/อบรมระยะสั้นที่มีการแข่งขันสูง
            T4 การเน้นวิจัยเชิงนวัตกรรมเพิ่มขึ้น ทำให้ได้รับทุนสนับสนุนวิจัยน้อย

1.2 การวิเคราะห์บริบทเชิงกลยุทธ์

            สมรรถนะหลัก (Core Competency; CC) สำหรับองค์กรประกอบด้วย การผลิตบัณฑิต: การจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning ที่ตอบสนองความต้องการของสังคม (CC1) การวิจัยและนวัตกรรม: การวิจัยเน้นผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพร่วมกับเครือข่าย เน้น Biomimetic Dentistry (CC2) การบริการวิชาการและบริการสุขภาพช่องปาก: การบริการวิชาการและสุขภาพช่องปากแบบครบวงจร (CC3) และการบริหารจัดการ: ดำเนินการอย่างเป็นระบบภายใต้ หลักการ POCCC: Planning, Organizing, Commanding, Coordinating, และ Controlling และเน้นการมีส่วนร่วมของบุคลากร (CC4) โดยมีการวิเคราะห์ความท้าทายเชิงกลยุทธ์ (Strategic Challenges; SC) ความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ (Strategic Advantages; SA) และโอกาสเชิงกลยุทธ์ (Strategic Opportunities; SOP) ดังแสดงในตาราง

ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม และเป้าประสงค์

2. ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม และเป้าประสงค์

ปณิธาน
            ผลิตบัณฑิต พัฒนางานวิจัย และให้บริการสุขภาพช่องปากที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม

วิสัยทัศน์
            โรงเรียนทันตแพทย์ชั้นแนวหน้า เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม
            The Avant-garde Dental School to Fulfill Social Demands

พันธกิจ
1.  ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพ ควบคู่คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ
2.  ผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
3.  ให้บริการวิชาการและบริการสุขภาพช่องปากที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม      
4.  บริหารองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการใช้ digital technology ร่วมกับการสร้างพันธมิตรเพื่อการพัฒนาพันธกิจร่วมกัน
5.  ส่งเสริมการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

ค่านิยม (Core Value)     
            TEAM Core Value             Teamwork การทำงานเป็นทีม
                                                        Excellence results ผลลัพธ์ที่เป็นเลิศ
                                                        Alliance พันธมิตร
                                                        Management การจัดการอย่างเป็นระบบ

เป้าประสงค์
คณะทันตแพทยศาสตร์จักเป็นองค์กรที่
1.    ผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถและมีความเป็นมนุษย์ที่รับผิดชอบต่อสังคม
2.    จัดหลักสูตรบัณฑิตศึกษาที่มีมาตรฐานและหลากหลาย ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม
3.    พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพร่วมกับเครือข่าย เพื่อประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
4.    เป็นศูนย์กลางการบริการวิชาการเพื่อพัฒนาสังคมในภาคเหนือตอนล่าง
5.    ให้บริการสุขภาพช่องปากที่มีคุณภาพแบบครบวงจรเพื่อประชาชน
6.    บริหารจัดการองค์กรแบบบูรณาการและสร้างรายได้ที่ยั่งยืน
7.    สร้างภาคีเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกสถาบัน เพื่อการพัฒนาการศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการ และการบริการสุขภาพช่องปากที่เข้มแข็ง
8.    ส่งเสริมการทำนุศิลปวัฒนธรรม เพื่อเป็นกลไกในการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

แผนกลยุทธ์ (Strategic plan)

3. แผนกลยุทธ์ (Strategic plan)

            แผนกลยุทธ์สำหรับการพัฒนาคณะทันตแพทยศาสตร์ ปีงบประมาณ 2567-2570 ซึ่งประกอบด้วย วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ (Strategic objectives; SO) ที่รองรับต่อการบรรลุเป้าประสงค์แต่ละด้าน มีการกำหนดแผนงาน (Action plan; AP) ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ มีการกำหนดตัวชี้วัดสำคัญ (Key Performance Indication; KPI) และค่าเป้าหมาย ที่ครอบคลุมการดำเนินงานตามพันธกิจทุกด้านของคณะดังต่อไปนี้

การผลิตบัณฑิต

เป้าประสงค์ 1 ผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถและมีความเป็นมนุษย์ที่รับผิดชอบต่อสังคม

เป้าประสงค์ 2 จัดหลักสูตรบัณฑิตศึกษาที่มีมาตรฐานและหลากหลาย ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม

เป้าประสงค์ 3 พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพร่วมกับเครือข่าย เพื่อประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

เป้าประสงค์ 4 เป็นศูนย์กลางการบริการวิชาการเพื่อพัฒนาสังคมในภาคเหนือตอนล่าง

เป้าประสงค์ 5 ให้บริการสุขภาพช่องปากที่มีคุณภาพแบบครบวงจรเพื่อประชาชน

เป้าประสงค์ 6 บริหารจัดการองค์กรแบบบูรณาการและสร้างรายได้ที่ยั่งยืน

การสร้างภาคีเครือข่าย: เป้าประสงค์ 7 สร้างภาคีเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกสถาบัน เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการ และการบริการสุขภาพช่องปากที่เข้มแข็ง

การทำนุศิลปวัฒนธรรม: เป้าประสงค์ 8 ส่งเสริมการทำนุศิลปวัฒนธรรม เพื่อเป็นกลไกในการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

การถ่ายทอดแผนกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ

4. การถ่ายทอดแผนกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ

            นโยบายและแผนกลยุทธ์ฉบับนี้ ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อรองรับการดำเนินงานตาม วิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้ ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยนเรศวร อีกทั้งเป็นการแสดงทิศทางการพัฒนาของคณะ การถ่ายทอดแผนกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ จัดเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่ต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือจากบุคลากรทุกฝ่ายในคณะ ซึ่งได้มีการกำหนดผู้รับผิดชอบการนำกลยุทธ์แต่ละด้านไปสู่การปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน โดยจักมีแนวทางการดำเนินงานดังนี้

             4.1 การทำความเข้าใจกลยุทธ์ โดยผู้รับผิดชอบกลยุทธ์แต่ละด้านศึกษาและทำความเข้าใจในแผนกลยุทธ์และความเชื่อมโยงกันของแต่ฝ่าย เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถวางแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้
             4.2 การถ่ายทอดกลยุทธ์สู่แผนปฏิบัติการ โดยจัดให้มีการทำงานเป็นทีมอย่างมีส่วนร่วม เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ/แผนงาน/โครงการ/กิจกรรม โดยมีการกำหนดวัตถุประสงค์ กำลังคน งบประมาณ ระยะเวลาที่ใช้ รายละเอียดของกระบวนการดำเนินงาน และแนวทางการประเมินความสำเร็จ อย่างครบถ้วน
             4.3 การดำเนินงานตามแผน โดยกำหนดให้มีการกำกับติดตามการดำเนินงาน ให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดในแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการ เพื่อรวบรวมผลการปฏิบัติงาน วิเคราะห์ และวัดความสำเร็จของการดำเนินงานตามแผน
             4.4 การประเมินผลและรายงาน จัดให้มีการประเมินผล และรวบรวมปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการดำเนินงานในแต่ละด้าน จัดให้มีการสรุปผลการกำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ จัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้บริหารและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำผลการประเมินมาปรับปรุงแผนในปีงบประมาณต่อไป จัดให้มีการสรุปและนำเสนอข้อมูลแก่ผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยนเรศวร

            ระยะเวลา
            รายงานในรอบ 6 เดือน และรอบ 1 ปีงบประมาณ ตลอดปีงบประมาณ พ.ศ. 2567–2570

            ผู้รับผิดชอบการกำกับติดตามประเมินผลและรายงาน
            งานนโยบายและแผน คณะทันตแพทยศาสตร์

Loading