หลักสูตร

หลักสูตรการฝึกอบรมทันตแพทย์ประจำบ้าน
เพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพทันตกรรม สาขาทันตกรรมจัดฟัน 

ชื่อหลักสูตร
(ภาษาไทย)        หลักสูตรการฝึกอบรมทันตแพทย์ประจำบ้าน เพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพทันตกรรม สาขาทันตกรรมจัดฟัน
(ภาษาอังกฤษ)    Residency Training Program in Orthodontics

ชื่อวุฒิบัตร
ชื่อเต็ม (ภาษาไทย):         วุฒิบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพทันตกรรม สาขาทันตกรรมจัดฟัน
            (ภาษาอังกฤษ):    Diploma of the Thai Board of Orthodontics
ชื่อย่อ   (ภาษาไทย):         ว.ท. (ทันตกรรมจัดฟัน)
            (ภาษาอังกฤษ):    Dip., Thai Board of Orthodontics

คำแสดงวุฒิการฝึกอบรมท้ายชื่อ
            (ภาษาไทย):         ว.ท. (ทันตกรรมจัดฟัน)
            (ภาษาอังกฤษ):    Diplomate, Thai Board of Orthodontics

การรับเข้า

ช่องทางการรับเข้า

          ติดตามข่าวการรับสมัครได้ที่ เว็บไซต์ ราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย
https://www.royalthaident.org/examination/train/

คุณสมบัติและเงื่อนไขการเป็นนิสิต

          1. ได้รับปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยของรัฐ หรือจากมหาวิทยาลัยอื่นที่ทันตแพทยสภารับรอง
          2. เป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2537 หรือมีคุณสมบัติตามข้อ 40 แห่งข้อบังคับทันตแพทยสภา ว่าด้วย หลักเกณฑ์การออกหนังสืออนุมัติบัตรหรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพทันตกรรมสาขาต่างๆ พ.ศ. 2555
          3. ปฏิบัติงานทางทันตกรรมมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 1 ปี (นับถึงวันสุดท้ายของการรับสมัครสอบ)

          ผู้ที่มีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางทันตกรรมของต่างประเทศ อาจเข้ารับการฝึกอบรม ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากทันตแพทยสภาแล้ว ในกรณีต่อไปนี้
          1. เป็นไปตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ และ
          2. คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร รับเข้าฝึกอบรม และ
          3. ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบสาขาทันตกรรมจัดฟัน โดยความเห็นชอบจากราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย

          หมายเหตุ ผู้สมัครต้องยื่นผลการสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษร่วมกับใบสมัคร ได้แก่
          1. TOEFL (Internet-based) ได้คะแนนตั้งแต่ 50 ขึ้นไป หรือ
          2. IELTS ได้คะแนนตั้งแต่ 4.0 ขึ้นไป หรือ
          3. CU-TEP ได้คะแนนตั้งแต่ 50 ขึ้นไป หรือ
          4. Cambridge Placement Test (รับผลคะแนนเฉพาะที่ผ่านการจัดสอบโดยสถานพัฒนาวิชาการด้านภาษา มหาวิทยาลัยนเรศวร) ได้คะแนนไม่ต่ำกว่าระดับ B1

ค่าใช้จ่ายโดยประมาณ

          250,000 บาท ต่อปี

โครงสร้างหลักสูตรและแผนการศึกษา

โครงสร้างของหลักสูตร ประกอบด้วย

          1. ภาควิชาการได้แก่ กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน และกลุ่มวิชาสาขาทันตกรรมจัดฟันและวิชาที่เกี่ยวข้อง
          2. ภาคปฏิบัติ ได้แก่ การฝึกอบรมทางคลินิกในชั้นปีที่ 1-3 และปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
          3. งานวิจัย อย่างน้อย 1 เรื่อง ในสาขาทันตกรรมจัดฟัน

แผนหลักสูตร
รายละเอียด

การจัดการศึกษา

ลักษณะเด่นของหลักสูตร/คำอธิบายเพิ่มเติมอื่นๆ

          1. สนับสนุนให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเข้าร่วมการประชุม อบรม สัมมนาวิชาการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดหลักสูตรการฝึกอบรมได้ไม่เกิน 60,000 บาท/คน
          2. มีโครงการเสริมสร้างสมรรถนะ ทัศนศึกษาดูงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร สำหรับผู้รับการฝึกอบรมไม่เกิน 100,000 บาท/คน (นอกเหนือจากข้อ 2)
          3. ออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ ภายใต้การควบคุมจากผู้เชี่ยวชาญสาขาทันตกรรมจัดฟันจากหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและ/หรือเอกชน เช่น โครงการสัญจรเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่

การจัดประสบการณ์การเรียนรู้

          ผู้เข้ารับการฝึกอบรมตามหลักสูตรการฝึกอบรมทันตแพทย์ประจำบ้าน เพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญ
ในการประกอบวิชาชีพทันตกรรม สาขาทันตกรรมจัดฟัน ณ สาขาวิชาทันตกรรมจัดฟัน ภาควิชาทันตกรรมป้องกัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จะต้องมีประสบการณ์การเรียนรู้ในด้าน
          1. การรักษาผู้ป่วยทางทันตกรรมจัดฟัน โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรม 1 คน จะได้รับผู้ป่วยใหม่จำนวนไม่น้อยกว่า 50 คน สำหรับการรักษาจนเสร็จสมบูรณ์ (จำนวน 20 ราย) หรือสำหรับการสอบเพื่อวุฒิบัตร (จำนวน 10 ราย) เพื่อให้ครบตามเกณฑ์สำหรับการฝึกอบรม ซึ่งกำหนดไว้โดยทันตแพทยสภา ในหลักสูตรการฝึกอบรมทันตแพทย์เฉพาะทางระดับวุฒิบัตร สาขาทันตกรรมจัดฟัน
          2. ฝึกปฏิบัติควบคุมสอนนิสิตทันตแพทย์ระดับปริญญาตรี
          3. ร่วมกิจกรรมเผยแพร่ทางวิชาการทั้งในและนอกคณะฯ ตามที่กำหนด
ระดับปีที่ 1: ภาคเรียนที่ 1
          1. ปฎิบัติงานรับผู้ป่วยใหม่ไม่น้อยกว่า 30 ราย ประกอบด้วย ผู้ป่วยประเภท Class I malocclusion, Class II malocclusion, Class III malocclusion รวมถึงผู้ป่วยที่ยังมีการเติบโต
          2. ฝึกปฎิบัติงานตรวจ วินิจฉัย วางแผนการรักษาผู้ป่วยในคลินิก โดยมีอาจารย์ควบคุมดูแล ให้คำปรึกษา แนะนำ รวมถึงการจัดการผู้ป่วย
          3. นำข้อมูลของผู้ป่วยทุกราย บันทึกลงในฐานข้อมูลของคณะฯ
          4. ร่วมในกิจกรรมวิชาการระดับชาติหรือระดับนานาชาติ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น การฟังบรรยายพิเศษ การเข้าร่วมประชุมวิชาการ รวมถึงการเข้าร่วมสัมมนา
          5. ให้คำปรึกษา-แนะนำแก่นิสิตทันตแพทย์ระดับปริญญาตรี ภายใต้การดูแลของอาจารย์
          6. เรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน วิชาพื้นฐานทางทันตกรรมจัดฟัน และทันตกรรมจัดฟันภาคปฏิบัติ
ระดับปีที่ 1: ภาคเรียนที่ 2
          1. ปฎิบัติงานรับผู้ป่วยใหม่เพิ่มไม่น้อยกว่า 20 ราย โดยรวมถึง Cleft lip/palate และ/หรือ Orthognathic surgery และ/หรือ Ortho-periodontics และ/หรือ Ortho-prosthodontics
          2. รับผู้ป่วยส่งต่อประมาณ 10 ราย เมื่อรวมกับผู้ป่วยที่รับใหม่ด้วยตนเองแล้ว จะต้องมีจำนวนผู้ป่วยรวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 50 ราย
          3. นำข้อมูลของผู้ป่วยทุกราย บันทึกลงในฐานข้อมูลของคณะฯ
          4. เรียนวิชาพื้นฐานทางทันตกรรมจัดฟันและภาคปฏิบัติทางคลินิก
          5. ร่วมในกิจกรรมวิชาการระดับชาติหรือระดับนานาชาติ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น การฟังบรรยายพิเศษ การเข้าร่วมประชุมวิชาการ รวมถึงการเข้าร่วมสัมมนา
ระดับปีที่ 2 และ 3
          1. ฝึกปฏิบัติงานคลินิก ซึ่งต้องรับผิดชอบในการรักษาผู้ป่วยต่อเนื่อง จำนวนไม่น้อยกว่า 30 ราย
          2. ปฏิบัติงานร่วมกับสาขาวิชาอื่น เช่น ทันตกรรมจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร ทันตกรรมจัดฟันร่วมกับศัลย์ปริทันต์ ทันตกรรมจัดฟันร่วมกับทันตกรรมประดิษฐ์ การรักษาผู้ป่วยปากแหว่ง-เพดานโหว่ และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
          3. นำเสนอผลความก้าวหน้าของการรักษาผู้ป่วยตามขั้นตอนและรูปแบบที่กำหนด
          4. นำข้อมูลของผู้ป่วยทุกราย บันทึกลงในฐานข้อมูลของคณะฯ
          5. ตรวจและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยที่มาปรึกษาด้านทันตกรรมจัดฟัน
          6. ฝึกควบคุมและสอนนิสิตทันตแพทย์ระดับปริญญาตรี
          7. ช่วยสอนและปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย
          8. รับผิดชอบในการช่วยทำการรักษาผู้ป่วยของอาจารย์ตามที่กำหนด เช่น Cleft lip/palate ผู้ป่วยพิเศษ
          9. เสริมสร้างประสบการณ์เรียนรู้ในกิจกรรมทางวิชาการ ระดับชาติหรือระดับนานาชาติ ทั้งในประเทศ
และต่างประเทศ เช่น การฟังบรรยายพิเศษ การเข้าร่วมประชุมวิชาการ รวมถึงการเข้าร่วมสัมมนา
          10. ร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตรตามที่สาขาวิชากำหนด
          11. เตรียมตัวสำหรับการประเมินผลเพื่อสำเร็จการศึกษาและเพื่อการสอบเพื่อวุฒิบัตร

วัตถุประสงค์

วัตถุประสงค์ทั่วไป
          ผลิตทันตแพทย์เฉพาะทางที่มีความรู้ความชำนาญด้านทันตกรรมจัดฟันที่ได้มาตรฐานในระดับสากล มีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพ มีคุณธรรมและจริยธรรม มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้ป่วยและผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ โดยคำนึงถึงความก้าวหน้าและปรับปรุงตนเองอย่างสม่ำเสมอด้านวิชาการ มีงานวิจัยต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ

วัตถุประสงค์เฉพาะ
          เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความสามารถ ดังต่อไปนี้
          1. มีความรู้ความชำนาญอย่างสูงทางทันตกรรมจัดฟันในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ทั้งในแนวกว้างและแนวลึก
          2. ตรวจ วิเคราะห์ วินิจฉัยความผิดปกติของการสบฟัน โครงสร้างใบหน้า ขากรรไกรตามหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์และความรู้พื้นฐานที่ทันสมัย
          3. จำแนกได้ถึงความผิดปกติของการพัฒนาการสบฟันที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของโครงสร้างใบหน้าและขากรรไกร สามารถจัดการวางแผนการรักษาและทำนายผลการรักษาได้
          4. ให้การรักษาทางทันตกรรมจัดฟันเบื้องต้นถึงชนิดซับซ้อนได้ รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ทันตแพทย์ที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย
          5. ให้ความร่วมมือวางแผนการรักษาและให้การรักษาร่วมกับทันตแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นได้อย่างดี
          6. มีความรับผิดชอบและพัฒนาตนเองทางวิชาการเพื่อความรู้ที่ทันสมัยสม่ำเสมอ
          7. มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการทำงานวิจัย สามารถทำงานวิจัยและเสนอผลงานวิจัยได้
          8. มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ อภิปรายปัญหาทางวิชาการอย่างมีประสิทธิภาพ
          9. มีความสามารถในการวิจารณ์และประเมินผลงานวิจัยทางทันตแพทยศาสตร์
          10. เข้าร่วมประชุมวิชาการนอกสถาบันในประเทศหรือต่างประเทศอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

Loading