หน่วยทันตกรรมพระราชทาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐเปี่ยมด้วย พระเมตตาคุณ พระกรุณาธิคุณต่อทวยราษฎร์ ทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขอาณาประชาราษฎร์อยู่เนืองนิจ ทรงมีพระอุปนิสัยอ่อนโยน ทรงมีพระเมตตาเอื้ออาทรต่อทุกคน ทรงมีพระปรีชาสามารถหลายด้าน พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อมวลทันตแพทย์และวิชาชีพทันตแพทย์อันจะหาที่เปรียบใดๆ มิได้ พระองค์ทรงมีพระราชปรารภว่า “เวลาพระองค์ท่านมีปัญหาเกี่ยวกับฟันก็มีทันตแพทย์ดูแลรักษา แล้วราษฎรที่อยู่ห่างไกลจะมีทันตแพทย์ช่วยรักษาหรือเปล่า” พระองค์ทรงรับสั่งว่า “ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแลบำบัดทุกข์ให้แก่เด็กนักเรียนและประชาชนที่อยู่ห่างไกล” ด้วยพระราชดำริดังกล่าวนี้ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง “หน่วยทันตกรรมพระราชทาน” เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๑๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้จัดสร้างรถยนต์ ทำฟันเคลื่อนที่คันแรกเพื่อให้เป็น “หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ส่วนพระองค์"
ปัจจุบันการบริหารงานของหน่วยทันตกรรมพระราชทานประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารและอาสาสมัคร โดยคณะกรรมการเป็นผู้วางแนวทางปรับกลยุทธ์การปฏิบัติงานให้เหมาะสมและ มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้มากยิ่งขึ้น โดยอาศัยแนวพระราชดำริเป็นต้นแบบในการดำเนินงาน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาส ๗๒ พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี ๒๕๔๒ องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยคณะทันตแพทยศาสตร์ ๘ มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัย ขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร จึงได้พิจารณาขยายงานที่จะร่วมดำเนินงาน “ทันตกรรมพระราชทาน” ให้กว้างขวางทั่วประเทศ และให้สอดคล้องกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของบ้านเมือง ความก้าวหน้าทางวิชาการ โดยเฉพาะรูปแบบการบริการสุขภาพช่องปากทุกประเภท
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรร่วมกิจกรรมของหน่วยทันตกรรมพระราชทาน โดยรับผิดชอบสุขภาพช่องปากของนักเรียนและประชาชนบริเวณภาคเหนือตอนล่าง และจังหวัดภาคเหนืออื่นๆได้แก่ พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ พิจิตร ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุทัยธานี พะเยา แพร่ น่านและเลย ได้ดำเนินงานตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๒ ในโอกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “พระมารดาแห่งการทันตแพทย์ไทย” และวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยอาศัยเครื่องมือเครื่องใช้จากหน่วยทันตกรรมพระราชทานส่วนพระองค์ เพื่อให้บริการทันตกรรมที่อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในวันที่ ๒๐–๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๒ โดยการให้บริการตรวจสุขภาพช่องปาก อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ให้คำแนะนำทางทันตสุขศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับพระมหากรุณาธิคุณมีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง“หน่วยทันตกรรมพระราชทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร” เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อให้บริการทันตกรรมแก่นักเรียนและประชาชนบริเวณภาคเหนือตอนล่างให้มีสุขภาพช่องปากที่ดีและมีความรู้ในการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของตนเองได้นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่เปรียบมิได้แก่คณาจารย์บุคลากรของคณะทันตแพทยศาสตร์และมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นศิริมงคลแก่ทุกคนที่มีโอกาสทำงานสนองพระราชดำริ
การดำเนินงาน
การจัดตั้งหน่วยทันตกรรมพระราชทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร ทำให้คณะทันตแพทยศาสตร์สามารถขยายอาณาบริเวณการให้บริการทางทันตกรรมให้กว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีทันตแพทย์ให้บริการได้อย่างต่อเนื่องทั่วถึง ได้อาศัยบุคลากรในท้องถิ่นประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบกำหนดการให้บริการ ประชาชนผู้สูงอายุได้รับการใส่ฟันทั้งปากเป็นครั้งแรกยังความปลาบปลื้มและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ เป็นอย่างยิ่ง
หน่วยทันตกรรมพระราชทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ดำเนินการการให้บริการเป็น ๒ รูปแบบ
รูปแบบที่ ๑ หน่วยทันตกรรมพระราชทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ออกให้บริการเฉพาะบริการทางทันตกรรม โดยทันตแพทย์และบุคลากรข้างเคียง ให้บริการแก่นักเรียนและประชาชนในทุกอำเภอ ของทุกจังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง โดยเริ่มต้นจากจังหวัดพิษณุโลก และอุตรดิตถ์
รูปแบบที่ ๒ หน่วยทันตกรรมพระราชทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ออกให้บริการร่วมกับหน่วยบริการเคลื่อนที่แบบครบวงจรของมหาวิทยาลัย ซึ่งให้บริการทางเวชกรรม ทันตกรรม การตรวจทางเทคนิคการแพทย์ การพยาบาล สังคม การเกษตร สถาปัตยกรรม วิศวกรรม นิติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ทำให้ประชาชนได้รับบริการในการประกอบอาชีพและสุขภาพไปพร้อมกัน
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร